ประวัติ ของ ภาษาไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

เมื่อประเทศไทยถูกดึงเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามายังประเทศไทย และขณะเดียวกันนั้นก็ได้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่า ภาษาไทยนี้ยากมาก ทั้งการอ่าน เขียน พูด จึงขอให้เปิดโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น และบังคับให้คนไทยเรียนภาษาญี่ปุ่น เหมือนคนจีนในเกาะไต้หวัน ทั้งๆที่ภาษาญี่ปุ่นมีความยุ่งยากทั้งในส่วนไวยกรณ์ การเขียน (มีตัวอักษรถึงสามประเภท) และการออกเสียง (ซึ่งตัวจีนตัวหนึ่งออกเสียงได้หลายแบบ) มากกว่าภาษาไทยหลายเท่า

จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเรียกประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปรึกษาหาเรือเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไข เมื่อตกลงกันได้แล้ว จึงแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย ประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งสิ้น 29 คน ซึ่งอาจารย์เปลื้อง ณ นคร และอาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

คณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยมีแนวทางส่งเสริมภาษาไทย 4 แนวทางคือ

  1. ส่งเสริมการศึกษาหลักและระเบียบภาษาไทย อย่างที่เรียกว่าภาษาศาสตร์
  2. ส่งเสริมการแต่ง ทั้งในวิธีร้อยแก้ว และร้อยกรอง ซึ่งรวมเรียกว่าวรรณคดี
  3. ส่งเสริมให้มีการวิจารณ์วรรณคดี
  4. จัดตั้งสมาคมวรรณคดี เพื่อจะได้เป็นแหล่งที่เพาะความรู้ภาษาไทย และโฆษณาภาษาไทย

ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวช่วยกันยกร่างเรื่องการปรับปรุงตัวอักษรไทย เสนอจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งท่านเห็นชอบด้วย จึงได้ลงนามในประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงอักสรไทย[1] เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 โดยให้เหตุผลว่า:

ด้วยรัถบาลพิจารณาเห็นว่า ภาสาไทยย่อมเป็นเครื่องหมายสแดงวัธนธรรมของชาติไทย สมควนได้รับการบำรุงส่งเสิมไห้แพร่หลายออกไปกว้างขวางยิ่งขึ้น ไห้สมกับความจเรินก้าวหน้าของชาติ ซึ่งกำลังขยายตัวออกไปไนปัจจุบันคนะหนึ่ง ดังมีรายชื่อแจ้งอยู่ไนประกาสตั้งกรรมการส่งเสิมวัธนธรรมภาสาไทยนั้นแล้ว เพื่อร่วมกันพิจารนาหาทางปรับปรุงและส่งเสิมภาสาไทยไห้มีความจเรินก้าวหน้ายิ่งขึ้น อันที่จริงภาสาไทยก็เป็นภาสาที่มีสำเนียงไพเราะสละสลวยและมีความกว้างขวางของภาสาสมกับเป็นสมบัติของชาติไทยที่มีวัธนธรรมสูงอยู่แล้ว ยังขาดอยู่ก็แต่การส่งเสิมไห้แพร่หลาย สมควนแก่ความสำคันของภาสาเท่านั้น

กรรมการส่งเสิมวัธนธรรมภาสาไทยได้มีการประชุมกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๓ พรึสภาคม ๒๔๘๕ มีความเห็นไนชั้นต้นว่า สมควนจะปรับปรุงตัวอักสรไทยไห้กระทัดรัดเพื่อได้เล่าเรียนกันได้ง่ายยิ่งขึ้น ได้พิจารนาเห็นว่า ตัวสระและพยัญชนะของภาสาไทยมีอยู่หลายตัวที่ซ้ำเสียงกันโดยไม่จำเป็น ถ้าได้งดไช้เสียบ้างก็จะเป็นความสดวกไนการสึกสาเล่าเรียกภาสาไทยไห้เป็นที่นิยมยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประกาศให้ใช้เลขสากล (เลขอาหรับ) แทนที่เลขไทย เพื่อความสะดวกในการติดต่อทั่วไป และเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว[2]

ภายหลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงครามพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ในวันถัดมานั้น นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ออกประกาศยกเลิกการใช้อักขรวิธีดังกล่าว และการใช้เลขสากล[3] ส่งผลให้กลับไปใช้อักขรวิธีไทยแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้ใช้มาจวบจนถึงปัจจุบัน และแม้ว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491 ท่านก็มิได้นำอักขรวิธีดังกล่าวกลับมาใช้อีก

อนึ่ง สาเหตุหลักของการที่อักขรวิธีไทยของคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยนั้นไม่ได้รับความนิยมคือ การขัดต่อความรู้สึกของประชาชน และความเคยชินกับอักษรไทยแบบเดิม[4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ภาษาไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม http://www.culture.go.th/cday/index.php?option=com... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/...